การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น
บริษัทให้ความสำคัญและมีความตระหนักมุ่งมั่นที่จะต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ เพื่อให้การดำเนินกิจการของบริษัทเป็นไปตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณทางธุรกิจ ดังนั้น บริษัทจึงได้กำหนดนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันแยกออกเป็นการเฉพาะ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 และมีการสื่อสารนโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันให้กับผู้บริหาร พนักงานทุกระดับ รวมถึงคู่ค้า ลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนให้รับทราบ ทั้งนี้ บริษัทมีการทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันเป็นประจำทุกปี เพื่อให้นโยบายดังกล่าวมีเนื้อหาครบถ้วน และครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการทุจริตคอร์รัปชันในการดำเนินธุรกิจของบริษัท
คณะกรรมการบริษัทได้มีมติให้บริษัทประกาศเจตนารมณ์เข้าเป็นแนวร่วมของภาคเอกชนไทย ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (Collective Action Coalition against corruption หรือ CAC) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559 รวมทั้งยื่นขอรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริตในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ปัจจุบันบริษัทได้รับการรับรองเป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต ดังนี้
ครั้งที่ได้รับการรับรอง CAC | วันที่ได้รับการรับรอง CAC | วันสิ้นสุดการรับรอง |
---|---|---|
1 | 22 เมษายน 2559 | 21 เมษายน 2562 |
2 | 4 กุมภาพันธ์ 2562 | 3 กุมภาพันธ์ 2565 |
3 | 31 มีนาคม 2565 | 31 มีนาคม 2568 |
โดยพนักงานของบริษัททุกระดับได้มีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลการกระทำการทุจริตคอร์รัปชัน และปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงกำหนดแนวทางการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนจากการกระทำทุจริตคอร์รัปชันไว้ในนโยบายการแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียน ซึ่งมีเนื้อหาในการเปิดช่องทางแก่ผู้ที่พบเห็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามจรรยาบรรณทางธุรกิจของบริษัท สามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนได้ที่ผู้บังคับบัญชาตามสายงานของผู้แจ้งเบาะแส ผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบภายใน กรรมการอิสระ คณะกรรมการตรวจสอบ โดยที่ผู้แจ้งเบาะแสเลือกที่จะไม่เปิดเผยชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ และผู้รับข้อร้องเรียนต้องเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นความลับจะเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และความเสียหายของผู้ร้องเรียน
บริษัทได้กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันรวมทั้งมาตรการการป้องกันไว้ใน “นโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน” เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้แก่กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานยึดถือปฏิบัติเป็นวัฒนธรรมองค์กร จำนวนทั้งหมด 6 หมวด ได้แก่
หมวดที่ 1 ว่าด้วยเรื่องคำนิยามบริษัท บริษัทย่อยและการทุจริตคอร์รัปชัน
หมวดที่ 2 ว่าด้วยบุคคลที่เกี่ยวข้องที่กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัททุกระดับร่วมกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
หมวดที่ 3 ว่าด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการและผู้บริหาร ผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบภายใน
หมวดที่ 4 ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติของกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานทุกระดับ
หมวดที่ 5 ว่าด้วยข้อกำหนดและข้อห้ามเกี่ยวกับการสรรหาหรือคัดเลือกบุคลากร การเลื่อนตำแหน่ง การให้หรือการรับของขวัญ และผลประโยชน์อื่นใด รวมถึงการเลี้ยงหรือรับเลี้ยงรับรอง การบริจาคเพื่อการกุศล หรือการให้เงินสนับสนุน ความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ
หมวดที่ 6 ว่าด้วยการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน เรื่องช่องทางการในการแจ้งเบาะแส กระบวนการพิจารณาเมื่อได้รับเบาะแสหรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน
บริษัทได้กำหนดคำนิยามทุจริตคอร์รัปชันในนโยบายดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนรวมทั้งบุคคลผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัททุกระดับ ที่ต้องร่วมกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อป้องกันมิให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันใดๆ ทั้งนี้ บริษัทมีระบบการตรวจสอบภายในภายใต้หลักการควบคุมภายในที่สอดคล้องกับความเสี่ยงด้านทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษ รวมทั้งติดตามและดูแลให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอีกด้วย
เมโทรซิสเต็มส์ฯ หรือ MSC รับมอบประกาศนียบัตรรับรองการเป็นสมาชิกแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต